รถไฟฟ้าเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบพระชนมพรรษา (ลำลูกกา-บางปู-ยศเส-บางหว้า-ตลิ่งชัน-บางนา-สนามบินสุวรรณภูมิ) (อังกฤษ: Elevated Train in Commemoration of HM the King's 6th Cycle Birthday) หรือชื่อที่เรียกกันทั่วไปว่า รถไฟฟ้า บีทีเอส (BTS Skytrain) เป็นระบบขนส่งมวลชนแบบรางในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ดำเนินการโดย บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ภายใต้สัมปทานของกรุงเทพมหานคร เริ่มเปิดให้บริการครั้งแรกเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2542 โดยซื้อตั๋วโดยสารรถไฟฟ้าบีทีเอสรายเที่ยวในปัจจุบัน ยังคงต้องมีการแยกจุดแลกเหรียญและเครื่องให้บริการซื๋อตั๋วอัตโนมัติด้วยเหรียญ
รถไฟฟ้า บีทีเอส เป็นระบบซึ่งดำเนินการแยกต่างหากจาก รถไฟฟ้ามหานคร โดยเกิดขึ้นจากการอนุมัติของกรุงเทพมหานคร ในสมัยพลตรี จำลอง ศรีเมืองเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เนื่องจากขณะนั้นในกรุงเทพมหานครไม่มีระบบขนส่งมวลชนทางราง มีการศึกษาโครงการก่อสร้างระบบรถไฟฟ้าหลายระบบ เช่น รถไฟฟ้าลาวาลิน แต่มีแนวโน้มไม่ได้รับการอนุมัติการก่อสร้างจากคณะรัฐมนตรี ขณะที่การจราจรในกรุงเทพฯ ติดขัดอย่างหนัก เนื่องจากปริมาณรถยนต์เพิ่มขึ้น เป็นผลมาจากการเปิดเสรีให้สามารถนำเข้ารถยนต์ใหม่จากต่างประเทศ ในรัฐบาลอานันท์ ปันยารชุน (ก่อนหน้านี้ การนำเข้ารถยนต์ใหม่จากต่างประเทศ ต้องเสียภาษีนำเข้าสูงถึงหลายเท่าของมูลค่ารถ)[ต้องการอ้างอิง]
ต่อมา กรุงเทพมหานครอนุมัติสัมปทานการก่อสร้างและจัดการเดินรถให้กับบริษัท ธนายง จำกัด (ปัจจุบัน คือ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน)) ของคีรี กาญจนพาสน์ ทีแรกกำหนดให้สร้างอู่ซ่อมบำรุงบริเวณพื้นที่สวนลุมพินี แต่ประชาชนที่ใช้พื้นที่สวนลุมพินีเพื่อออกกำลังกายเป็นประจำได้รวมตัวประท้วงการเข้าใช้พื้นที่ ว่าขัดต่อพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่พระราชทานพระราชทรัพย์จัดสร้างเพื่อเป็นสวนสาธารณะของประชาชน นอกจากนั้นยังมีการประท้วงขอให้เปลี่ยนแปลงรูปแบบการสร้างรถไฟฟ้าจากโครงสร้างยกระดับลอยฟ้าเป็นอุโมงค์ใต้ดิน ในที่สุดจึงได้มีการย้ายสถานที่ก่อสร้างอู่ซ่อมบำรุง ไปใช้ที่ราชพัสดุของกรมธนารักษ์ ซึ่งเป็นที่ทำการและสถานีขนส่งสายเหนือเดิม (สถานีหมอชิต) ใกล้กับสวนจตุจักร โดยในช่วงแรกก่อนเปิดทำการ รถไฟฟ้าสายนี้ใช้ชื่อว่า รถไฟฟ้าธนายง ตามชื่อบริษัทที่ได้รับสัมปทาน
ปัจจุบันรถไฟฟ้าบีทีเอสอยู่ในระหว่างการพิจารณาจากกระทรวงคมนาคม และกระทรวงมหาดไทย ในการโอนย้ายกิจการรถไฟฟ้าทั้งหมดจากเดิมที่เป็นสัมปทานและทรัพย์สินของกรุงเทพมหานครไปเป็นทรัพย์สินของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยแทน เนื่องจากกระทรวงคมนาคมเล็งเห็นว่า กรุงเทพมหานครไม่เหมาะสมที่จะดูแลโครงการใหญ่ ๆ เพราะอาจจะเกิดปัญหาตามมาได้ อีกทั้งยังสะดวกเดินรถในส่วนต่อขยายของสายสุขุมวิท ที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยจะไม่ใช้วิธีว่าจ้าง BTSC เข้าไปดำเนินการ แต่จะใช้วิธีการประมูลโครงการแบบ PPP Gross-Cost แบบเดียวกับรถไฟฟ้ามหานคร สายสีม่วง ซึ่งอาจเกิดกรณีผู้ให้บริการอาจไม่ใช่ BTSC อีกต่อไปได้ และยังเพิ่มความสะดวกกับรัฐในการควบคุมค่าโดยสาร และการออกตั๋วร่วมที่จะไม่มีค่าแรกเข้าอีกด้วย อย่างไรก็ตามผู้บริหารของกรุงเทพมหานครได้ตัดสินใจดำเนินการให้มีการจ้างเดินรถไฟฟ้าระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานครเป็นเวลา 30 ปี เพื่อทำสัญญาแทนสัญญาเดินรถที่จะหมดอายุในวันที่ 7 พฤษภาคม 2555 และในวันที่ 11 สิงหาคม 2555 ซึ่งทำให้เกิดความสงสัยจากสมาชิกพรรคเพื่อไทย พรรครัฐบาลในขณะนั้น และการตอบโต้จากสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ พรรคฝ่ายค้าน ประเด็นหลัก คือ เรื่องการได้หรือเสียประโยชน์ของภาครัฐและการได้หรือเสียประโยชน์ของประชาชนชาวกรุงเทพมหานครซึ่งเรื่องนี้ทำให้บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ผู้ดำเนินการรถไฟฟ้าเฉลิมพระเกียรติอนุญาตให้มีการแจกใบปลิวภายในสถานีรถไฟสถานีต่าง ๆ อีกด้วย จึงนับเป็นครั้งแรกที่มีการตอบโต้ที่เป็นความร่วมมือระหว่างกรุงเทพมหานครและบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ถึงผลได้ผลเสียในเรื่องนี้และเป็นการโต้ตอบพรรครัฐบาลในขณะนั้นที่ต้องการให้กรมสอบสวนคดีพิเศษเข้ามาระงับการจ้างเดินรถไฟฟ้าระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานครเป็นเวลา 30 ปี[ต้องการอ้างอิง]
รถไฟฟ้าบีทีเอสเปิดให้บริการ 2 สาย คือ รถไฟฟ้าเฉลิมพระเกียรติ สาย 1 หรือ สายสุขุมวิท (สายสีเขียวอ่อน ระยะทาง 17 กม. เมื่อแรกเปิดให้บริการ และอีก 5.25 กม. สำหรับส่วนต่อขยาย) และ รถไฟฟ้าเฉลิมพระเกียรติ สาย 2 หรือ สายสีลม (สายสีเขียวเข้ม ระยะทาง 6.5 กม. เมื่อแรกเปิดให้บริการ และอีก 8.17 กม. สำหรับส่วนต่อขยาย)
โดยมีสถานีทั้งหมด 34 สถานี เชื่อมต่อทั้งสองสายที่สถานีสยาม และรวมระยะทางทั้งสิ้น 36.92 กม. ใน พ.ศ. 2555 รถไฟฟ้าเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบพระชนมพรรษาได้บริการสายสุขุมวิทเชื่อมสายสีลมโดยเดินทางจากสถานีหมอชิตไปยังสถานีสยามและเดินทางต่อไปยังสถานีตลาดพลู
ผู้โดยสารสามารถเปลี่ยนไปใช้รถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิหรือแอร์พอร์ทลิงก์ ได้ที่ สถานีพญาไท โดยทางการรถไฟแห่งประเทศไทยได้สร้างทางเชื่อมต่อโดยตรงจากสถานีพญาไทของโครงการแอร์พอร์ทลิงก์มายังสถานีพญาไทของรถไฟฟ้าบีทีเอส ซึ่งสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสได้ติดตั้งประตูเครื่องตรวจตั๋วโดยสารอัตโนมัติเพิ่มเติมบริเวณกลางสถานี ทำให้พื้นที่ที่ผ่านเครื่องตรวจตั๋วโดยสารแล้ว (paid area) ถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วนในลักษณะเดียวกันกับสถานีสยาม เพื่อเพิ่มความสะดวกสำหรับผู้ที่จะต่อรถเดินทางไปยังท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
ผู้ให้บริการรถไฟฟ้า บีทีเอส เคยให้บริการรถโดยสารรับส่งในสถานที่สำคัญบางสถานี หรือที่เรียกว่ารถชัตเทิลบัส (Shuttle Bus) 5 สายดังนี้
โดยบริการรถรับส่งนี้ไม่คิดค่าโดยสาร แต่จำเป็นต้องใช้คูปองซึ่งขอรับได้จากเจ้าหน้าที่จำหน่ายบัตรโดยสารที่สถานี เวลาให้บริการคือ 6.30-22.30 น
นอกจากนี้ยังมีเอกชนให้บริการรถรับส่งจากสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสใกล้เคียงไปยังสถานที่ๆ แต่ละฝ่ายให้บริการอยู่ โดยปัจจุบันมีดังนี้
โดยบริการดังกล่าวไม่เสียค่าบริการ ยกเว้นเส้นทางหมอชิต-อิมแพ็ค เมืองทองธานีจะเก็บค่าโดยสาร 30 บาทต่อเที่ยว เนื่องจากเส้นทางหลักต้องผ่านทางด่วน
สามารถเปลี่ยนไปใช้รถโดยสารประจำทางด่วนพิเศษ (บีอาร์ที) สายสาทร-ราชพฤกษ์ ได้ที่ สถานีช่องนนทรี โดยเชื่อมต่อกับสถานีสาทร ของรถโดยสารด่วนพิเศษและที่สถานีตลาดพลูอีกแห่ง โดยเชื่อมต่อกับสถานีราชพฤกษ์ ของรถโดยสารด่วนพิเศษ
รถไฟฟ้า บีทีเอส ได้ทำโครงการใช้บัตรโดยสารร่วมกันโดยผู้โดยสาร สามารถใช้บัตรโดยสารบีทีเอสสมาร์ทพาส-บีอาร์ที เพียงใบเดียวในการจ่ายเงินค่าโดยสารได้ แต่ไม่สามารถใช้ในการสะสมคะแนนกับบัตรหนูด่วนพลัสได้ หากใช้บริการของบีอาร์ที เนื่องจากเป็นคนละบริษัท โดยตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2555 เป็นต้นไป สามารถใช้บัตรแรทบิทไปโดยสารบีอาร์ทีได้แล้ว
ในระบบรถไฟฟ้าบีทีเอสที่ให้บริการในสายสุขุมวิทปัจจุบัน มีเพียงแค่ A-Car และ C-Car เท่านั้น โดยใน 1 ขบวนจะมี A-Car อยู่ที่หัวและท้ายขบวนจำนวน 2 ตู้ และมี C-Car อยู่กลางขบวนรถ 2 ตู้ สามารถต่อพ่วงเพิ่มได้สูงสุดถึง 6 ตู้ต่อ 1 ขบวน มีความยาวอยู่ที่ 65.30 เมตร และมีความกว้าง 3.20 เมตร มีประตูเลื่อนกว้าง 1.40 เมตร จำนวน 32 บานต่อ 1 ขบวน ตัวถังรถทำจากเหล็กปลอดสนิม ติดตั้งระบบปรับอากาศ พร้อมหน้าต่างชนิดกันแสง รถไฟฟ้าสามารถขับเคลื่อนได้โดยใช้แรงดันไฟฟ้า 750 Vdc โดยรับจากรางส่งที่ 3
ในระบบรถไฟฟ้าบีทีเอสที่ให้บริการในสายสีลมปัจจุบัน จะประกอบไปด้วย Tc-Car และ M-Car โดย Tc-Car จะอยู่ด้านหัวและท้ายขบวน 2 ตู้ และ M-Car จะอยู่กลางขบวน 2 ตู้ สามารถต่อพ่วงได้สูงสุด 6 ตู้ต่อ 1 ขบวน (แต่ด้วยความสามารถของสถานีสะพานตากสิน ที่ยาวเพียง 115 เมตรนั้น ทำให้รถสามารถพ่วงต่อได้แค่ 5 ตู้ต่อ 1 ขบวนเท่านั้น) มีความยาวอยู่ที่ 87.25 เมตรและมีความกว้าง 3.12 เมตร มีประตูเลื่อนกว้าง 1.40 เมตร จำนวน 32 บานต่อ 1 ขบวน ตัวถังของขบวนรถทำเหล็กปลอดสนิมและอะลูมิเนียม ติดตั้งระบบปรับอากาศทั้งหมด 8 ยูนิต พร้อมหน้าต่างชนิดกันแสง และมีระบบแผนที่นำทางหรือ Dynamic Route Map ซึ่งทำงานพร้อมกับระบบอาณัติสัญญาณ ติดตั้งอยู่เหนือประตูทุกบาน รถไฟฟ้าสามารถขับเคลื่อนได้โดยใช้แรงดันไฟฟ้า 750 Vdc โดยรับจากรางส่งที่ 3
แต่ทั้งนี้ เพื่อรองรับเส้นทางที่ยาวเพิ่มขึ้น บีทีเอสซียังได้มีการลงทุนเพิ่มกว่า 3,500 ล้านบาท ใน 2 ส่วน คือ
บัตรโดยสารรถไฟฟ้า บีทีเอส มีการพิมพ์เป็นลวดลายต่างๆ ตามความเหมาะสม และการโฆษณา ปัจจุบันแบ่งใช้งานออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่
การเชื่อมต่อบัตรโดยสารมีเฉพาะ บัตรโดยสารบีทีเอสสมาร์ทพาส (BTS Smart Pass)เท่านั้นโดยมีการเชื่อมต่อดังต่อไปนี้
นอกจากนี้ บริษัท บางกอกสมาร์ทการ์ดซิสเทม จำกัด ที่เป็นบริษัทในเครือบีทีเอสกรุ๊ป จะทำการเปิดตัวบัตรโดยสาร BSS Smartcard ที่เป็นบัตรโดยสารบีทีเอสสมาร์ทพาสเดิมที่สามารถเชื่อมต่อกับบัตรโดยสารของรถไฟฟ้ามหานครของรัฐบาลได้โดยความร่วมมือระหว่างบริษัท บางกอกสมาร์ทการ์ดซิสเทม จำกัด และบริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) นอกจากนี้ยังสามารถใช้เป็นบัตรเงินสดในการซื้อสินค้ากับร้านค้าที่ร่วมรายการ และระบบขนส่งมวลชนอื่นๆ ได้อีกด้วย โดยบัตร BSS Smart Card จะมีให้เลือกทั้งบัตรโดยสารสำหรับบุคคลธรรมดา, บัตรโดยสารสำหรับนักเรียน นักศึกษา และ บัตรโดยสารสำหรับเด็กและผู้สูงอายุ เป็นต้น
รถไฟฟ้าเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบพระชนมพรรษา เปิดบริการให้บัตรสมาชิกฟรีกับประชาชนที่ใช้บริการในรูปแบบบัตรสะสมคะแนนในนาม บัตรหนูด่วน พลัส ซึ่งสามารถใช้บัตรรับส่วนลด 50 บาท ในการโดยสารเมื่อโดยสารครบ 1,000 คะแนนขึ้นไปซึ่ง 1คะแนนจะได้ต่อเมื่อชำระค่าเดินทาง 1 บาท จึงเท่ากับว่ารถไฟฟ้าเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบพระชนมพรรษา จะให้ส่วนลดร้อยละ 5 ทุกครั้งที่ชำระค่าเดินทางครบ 1000 บาท หรือใช้บัตรรับส่วนลดจากร้านค้าต่าง ๆ รวมถึงโรงพยาบาล โรงเรียนสอนพิเศษ ที่ร่วมรายการซึ่งผู้ใช้บริการจำเป็นต้องแสดงบัตรหนูด่วน พลัสก่อนใช้บริการโดยร้านค้าที่ร่วมรายการจะติดสติ๊กเตอร์หนูด่วน ชวนแวะเงื่อนไขการส่วนลดเป็นไปตามร้านค้านั้น ๆ กำหนด หรือใช้คะแนนแลกซื้อสินค้าต่าง ๆ หรือได้สินค้านั้น ๆ ฟรี อาทิ ตํ๋วดูหนัง ผู้มีสิทธิรับบัตรหนูด่วน พลัสจำเป็นต้องใช้บัตรโดยสารบีทีเอสสมาร์ทพาส (BTS Smart Pass) เท่านั้น โดยไม่จำกัดสัญชาติของผู้มีสิทธิรับบัตร
รถไฟฟ้าเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบพระชนมพรรษา ให้บริการตรวจสุขภาพฟรี หรือรู้จักกันในคลินิกลอยฟ้าเฉลิมพระเกียรติ และยังมีความร่วมมือกับโรงพยาบาลเปาโล เมโมเรียล (สะพานควาย) ในการให้บริการตรวจเลือดฟรีหรือตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจฟรีอย่างใดอย่างหนึ่งเมื่อเดิมเงินในบัตรเดินทางตามจำนวนที่บริษัทกำหนด (ที่ผ่านมา 300 บาท) ในบัตรเดินทางประเภท (BTS Rabbit) เท่านั้น ซึ่งทั้งสองโครงการมีปีละครั้ง
รถไฟฟ้าเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบพระชนมพรรษา ให้บริการส่วนลดร้านค้าอื่น ๆ ตามประกาศของธนาคารกรุงเทพ สำหรับผู้ที่ใช้บัตรเดบิตและบัตรเครดิต ธนาคารกรุงเทพที่ใช้ร่วมกับบัตรเดินทางประเภท (BTS Rabbit) รถไฟฟ้าเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบพระชนมพรรษา เท่านั้นโดยจะประกาศเป็นช่วงระยะเวลาเช่นเดียวกัน
การสนับสนุนภาครัฐของรถไฟฟ้าเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบพระชนมพรรษามีความเหมือนกับรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคลทุกประการยกเว้นไม่มีได้มีรายการรู้รักภาษาไทยในขบวนรถ อย่างไรก็ดีได้มีบริการข่าวสารจากเครือเนชั่น วอยซ์ทีวี และสปริงนิวส์ ทั้งบนรถและชานชาลาสถานีรถไฟแทน
ในส่วนการดำเนินการเพื่อคนพิการมีความแตกต่างกันบ้างเนื่องจากรถไฟฟ้าเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบพระชนมพรรษาสงวนสิทธิ์คนพิการในการเปลี่ยนสถานีกลางคัน(ห้ามเปลี่ยนสถานี)และมีตั๋วให้ทุกครั้งที่ใช้บริการพร้อมเลขที่กำกับตั๋ว ซึ่งต้องให้คนพิการลงนามกำกับทุกครั้งและเจ้าพนักงานของรถไฟฟ้าเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบพระชนมพรรษาต้องเซ็นกำกับที่ตั๋วทุกครั้งและอาจต้องแสดงตั๋วกับพนักงานรักษาความปลอดภัยก่อนออกจากสถานีต้นทาง เมื่อถึงที่หมายจะมีเจ้าพนักงานหรือพนักงานรักษาความปลอดภัยคอยรับตั๋วบริเวณทางออกซึ่งเจ้าพนักงานมีอำนาจในการเปิดหรือปิดประตูต้องเป็นเจ้าพนักงานของรถไฟฟ้าเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบพระชนมพรรษาเท่านั้น การดำเนินการทั้งหมดจึงใช้เวลามากกว่ารถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคลสำหรับในขาไปโดย ณ ปัจจุบันตั๋วมีสี่สีคือสีฟ้าออกที่สถานีกรุงธนบุรี ตั๋วสีน้ำตาลออกที่สถานีสยามตั๋วสีม่วงออกที่สถานีหมอชิต และตั๋วสีเขียวใช้กับสถานีทั่วไป เที่ยวบีทีเอสกับคนพิการ
เนื่องจากบันไดเลื่อนในระบบรถไฟฟ้าบีทีเอสมีความเร็วสูงกว่าบันไดเลื่อนทั่วไป ผู้โดยสารควรใช้ด้วยความระมัดระวัง
เว็บไซต์ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพระบุว่า รถไฟฟ้าบีทีเอสมีความปลอดภัยสูง นับตั้งแต่วันแรกที่เปิดให้บริการจนถึงปัจจุบัน ไม่พบว่ามีรายงานอุบัติเหตุร้ายแรงที่ส่งผลกระทบต่อผู้โดยสาร[ต้องการแหล่งอ้างอิงดีกว่านี้] บริษัทฯ คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้โดยสารจึงพิถีพิถันตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบ และการเลือกใช้วัสดุ รวมถึงจัดเตรียมอุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับใช้ในกรณีฉุกเฉินไว้ในขบวนรถและบนสถานี รวมถึงจัดเตรียมมาตรการตรวจสอบ การซ่อมบำรุง การปรับปรุงพัฒนาระบบอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังจัดทำคู่มือการใช้ระบบอย่างปลอดภัยแก่ผู้โดยสาร
ปัจจุบันรถไฟฟ้าบีทีเอสได้พัฒนาเข้าสู่ระบบการจัดการความปลอดภัย (Safety Management System) ตามมาตรฐาน BPM (Best Practice Model) ของ Lloyd Register Rail ซึ่งเป็นบริษัทที่เชี่ยวชาญด้านการขนส่งระบบราง และได้เข้าสู่ระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย (OHSAS 18001) ซึ่งทั้งหมดนี้เพื่อมาตรฐานสูงสุดในการให้บริการ และมอบความปลอดภัยสูงสุดแก่ผู้โดยสารทุกครั้งที่มาใช้บริการ
ในการเดินรถปกติ รถไฟฟ้าทุกขบวนจะใช้ระบบควบคุมรถอัตโนมัติ (Automatic Train Control: ATC) ซึ่งอยู่ภายใต้ระบบการเดินรถไฟฟ้าอัตโนมัติ (Automatic Train Operation: ATO) ที่ความเร็วจำกัดไม่เกิน 80 กม./ชม. และมีระบบป้องกันความผิดพลาดของการเดินรถ (Automatic Train Protection: ATP) เป็นระบบควบคุมระยะห่างระหว่างขบวนรถให้อยู่ในระยะที่ปลอดภัย รวมถึงควบคุมความเร็วของขบวนรถให้อยู่ในระดับที่ปลอดภัย
ห้องโดยสารของรถไฟฟ้าบีทีเอสได้รับการออกแบบไม่ให้มีส่วนแหลมคม เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นแก่ผู้โดยสาร และใช้วัสดุที่ไม่ก่อให้เกิดควันพิษ และยากลุกลามเมื่อเกิดเพลิงไหม้ ในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินในขบวนรถ เช่น เพลิงไหม้ ผู้โดยสารเจ็บป่วยกระทันหัน หรือเหตุฉุกเฉินอื่นๆ ผู้โดยสารสามารถติดต่อเพื่อแจ้งเหตุแก่พนักงานควบคุมรถไฟฟ้าโดยกดปุ่มรูปกระดิ่งสีเหลือง ที่ติดตั้งไว้บริเวณประตูรถไฟฟ้า
โครงสร้างของสถานีได้รับการออกแบบและก่อสร้างภายใต้พระราชบัญญัติควบคุมอาคารและมาตรฐาน NFPA 130 ว่าด้วยการขนส่งมวลชนระบบราง และได้ติดตั้งระบบป้องกันและระงับเหตุเพลิงไหม้ภายใต้มาตรฐาน NFPA ([National Fire Protection Association]) ได้แก่ ถังดับเพลิง สายฉีดน้ำดับเพลิง และระบบฉีดน้ำดับเพลิงอัตโนมัติ ครอบคลุมพื้นที่ของสถานี รวมทั้ง ติดตั้งระบบไฟฟ้าและระบบสายล่อฟ้าภายใต้มาตรฐานของวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย (สสวท) และได้ติดตั้งปุ่มหยุดรถไฟฟ้าฉุกเฉิน (กล่องสีเหลือง) เพื่อใช้หยุดการเคลื่อนที่ของรถไฟฟ้า ไม่ให้เข้าหรือออกจากสถานีในกรณีฉุกเฉิน เช่น มีผู้โดยสารพลัดตกลงราง
รถไฟฟ้าบีทีเอสเล็งเห็นถึงความสำคัญในเรื่องของการรักษาความปลอดภัยภายในระบบ โดยได้กำหนดมาตรการการรักษาความปลอดภัยให้สอดคล้องกับนโยบายด้านคุณภาพ ความปลอดภัย และการรักษาความปลอดภัยตามมาตรฐาน ISO9001 : 2008 โดยได้แบ่งการบริหารจัดการงานรักษาความปลอดภัยออกเป็น 2 ด้าน ได้แก่
รถไฟฟ้าบีทีเอสได้จัดเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย รวมทั้งสิ้น 394 คน ต่อวัน ปฏิบัติหน้าที่บนสถานีรถไฟฟ้าทั้ง 34 สถานี ที่อาคารศูนย์บริหารและควบคุมการเดินรถไฟฟ้า โรงจอดและซ่อมบำรุง และลานจอดรถหมอชิต แบ่งการปฏิบัติหน้าที่เป็น 2 ผลัด ผลัดละ 10-12 ชั่วโมง โดยจัดเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำสถานีละ 4 ถึง 10 คน (ขึ้นอยู่กับปริมาณผู้โดยสารที่มาใช้บริการ) ประจำบนชั้นชานชาลาฝั่งละ 1 คน ตลอดเวลาให้บริการ และบริเวณประตูอัตโนมัติบนชั้นจำหน่ายตั๋ว ฝั่งละ 1 คน ทั้งนี้ ในช่วงเวลากลางวันจะมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยหญิงสถานีละ 1 คน คอยให้ความช่วยเหลือผู้โดยสารที่เป็นสุภาพสตรีในกรณีต่างๆ เช่น คอยอำนวยความสะดวกและช่วยเหลือผู้โดยสารที่เป็นสุภาพสตรีที่เป็นลมหมดสติ และเมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่ปกติ จะเพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย เพื่อคอยตรวจตราความเรียบร้อยในขบวนรถไฟฟ้า
เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยทุกคน จะต้องผ่านการฝึกอบรม เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจพื้นฐานด้านการรักษาความปลอดภัย รวมทั้ง ต้องผ่านการอบรบพิเศษเกี่ยวกับระบบรถไฟฟ้าบีทีเอส และวิธีใช้อุปกรณ์ด้านความปลอดภัยภายในระบบ นอกจากนี้ ยังมีการฝึกอบรมความรู้พิเศษอื่นๆ เพิ่ม เช่น วิธีช่วยเหลือนำทางคนตาบอด รวมทั้ง เข้าร่วมการฝึกซ้อมแผนฉุกเฉินกับหน่วยงานภายนอกที่จัดขึ้นเป็นประจำทุก 6 เดือน ทั้งนี้เพื่อเป็นประโยชน์ในการให้ความช่วยเหลือผู้โดยสาร
นอกจากเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยที่ปฏิบัติหน้าที่ดูแลความปลอดภัยแก่ผู้โดยสารในระบบแล้ว รถไฟฟ้าบีทีเอส ยังได้รับการสนับสนุนกำลังเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานต่างๆ ดังนี้
1. เจ้าหน้าที่ตำรวจและสุนัขตำรวจ (เจ้าหน้าที่ตำรวจ 2 นาย สุนัขตำรวจ 2 ตัว) จากงานตรวจพิสูจน์ กองกำกับการ 5 กองบังคับการตำรวจปฏิบัติการพิเศษ ปฏิบัติหน้าที่ตรวจหาวัตถุระเบิดในระบบ
2. เจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง จากกองกำกับการ 2 ศูนย์สืบสวนสอบสวน สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ปฏิบัติหน้าที่จับกุมผู้ต้องสงสัยหรือมิจฉาชีพชาวต่างชาติที่หลบหนีเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย
นอกจากนี้ รถไฟฟ้าบีทีเอสยังได้เตรียมพร้อมในการประสานงานเพื่อขอกำลังสนับสนุนจากหน่วยงานภายนอกเพิ่มเติม ดังนี้ ตำรวจนครบาลท้องที่ (ที่ใกล้เคียงสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส) สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กลุ่มงานเก็บกู้และตรวจพิสูจน์วัตถุระเบิด ศูนย์กู้ชีพเอราวัณ โรงพยาบาลเลิศสิน โรงพยาบาลราชวิถี โรงพยาบาลกลาง ศูนย์หัวเฉียวพิทักษ์ชีพ โรงพยาบาลหัวเฉียว และกองพันทหารม้าที่ 1 รักษาพระองค์ (พล.ม. 2 รอ.)
เครื่องตรวจวัตถุโลหะ (Metal Detector/ Guard Scan) ใช้ตรวจหาวัตถุที่มีส่วนประกอบของโลหะ โดยได้ตั้งจุดตรวจไว้ที่ชั้นจำหน่ายตั๋วในเขตชำระเงิน บริเวณใกล้ประตูอัตโนมัติทั้ง 2 ฝั่ง ทุกสถานีใช้สุ่มตรวจกระเป๋าหรือสัมภาระของผู้โดยสาร เพื่อป้องปรามการก่ออาชญากรรมหรือการก่อวินาศกรรมในระบบรถไฟฟ้าบีทีเอส
ระบบตรวจการณ์ (Patrol Management System) รถไฟฟ้าบีทีเอส ได้นำชุดอุปกรณ์อิเลกทรอนิกส์ ประกอบด้วย แท่งตรวจการณ์ (Patrol Stick) และจุดตรวจ (Patrol Checker) มาช่วยเสริมประสิทธิภาพการทำงานของเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย โดยให้เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยแต่ละคนตรวจตราความเรียบร้อยของพื้นที่ตามเวลาและจุดตรวจที่กำหนดทั่วทั้งสถานี แล้วรายงานความเรียบร้อย หลังจากนั้นจะนำข้อมูลจากแท่งตรวจการมาประมวลผล เพื่อตรวจสอบรายงานการเดินตรวจการณ์ของเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยแต่ละคน
ระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (Closed Circuit Television System หรือ CCTV System) รถไฟฟ้าบีทีเอสได้ติดตั้งระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิดครอบคลุมพื้นที่สถานี อาคารศูนย์บริหารและควบคุมการเดินรถไฟฟ้า และโรงจอดและซ่อมบำรุง รวมทั้งสิ้น 1,507 ตัว (ข้อมูล ณ เดือนธันวาคม 2556) โดยมีศูนย์เฝ้าระวังและรักษาความปลอดภัย (CCTV Security Center) อยู่ที่สถานีสยาม ซึ่งมีพนักงานปฏิบัติหน้าที่ประจำศูนย์ฯ ดูแลความปลอดภัยของผู้โดยสารตลอดเวลาเปิดให้บริการ ทั้งนี้ เมื่อตรวจพบวัตถุหรือบุคคลต้องสงสัย จะประสานงานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการทันที และสามารถย้อนดูภาพที่บันทึกไว้ได้ประมาณ 14 วัน
อุปกรณ์ตรวจวัตถุใต้ท้องรถ (Under Vehicle Search Mirror) ใช้ตรวจรถยนต์ทุกคันที่เข้าพื้นที่โรงจอดและซ่อมบำรุงรถไฟฟ้า เพื่อป้องปรามการก่ออาชญากรรม หรือการก่อวินาศกรรม โดยจุดตรวจจะอยู่บริเวณทางเข้าโรงจอดและซ่อมบำรุงรถไฟฟ้า
อาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2543 มาตรา 63 ให้พนักงานเจ้าหน้าที่เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญามีหน้าที่รักษาความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยในเขตระบบไฟฟ้าตามกฎกระทรวงหรือตามที่ผู้ว่าการมอบหมาย และให้มีอำนาจดังต่อไปนี้ 1.ค้นหรือจับกุมผู้กระทำความผิดซึ่งหน้าตามพระราชบัญญัตินี้ เพื่อส่งให้พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจดำเนินคดีตามกฎหมายพนักงานเจ้าหน้าที่รถไฟฟ้าเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบพระชนมพรรษาจึงมีอำนาจตามกฎหมายดังกล่าว ทั้งนี้อาศัยอำนาจตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 93 การตรวจค้นสิ่งของในความครอบครองของบุคคลในที่สาธารณะจะกระทำไม่ได้เลย เว้นแต่เจ้าพนักงานปกครองหรือตำรวจเป็นผู้ค้นเมื่อมีเหตุอันควรสงสัยว่าบุคคลนั้นมีสิ่งของในความครอบครองเพื่อจะใช้ในการกระทำความผิด หรือซึ่งได้มาโดยกระทำความผิดหรือซึ่งมีไว้เป็นความผิด
เจ้าหน้าที่ รถไฟฟ้าเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบพระชนมพรรษา ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญาจึงอาศัยอำนาจตามมาตรา 93 ตรวจค้นบุคคลเมื่อมีเหตุอันควรสงสัยว่าบุคคลนั้นมีสิ่งของในความครอบครองเพื่อจะใช้ในการกระทำความผิด หรือซึ่งได้มาโดยกระทำความผิดหรือซึ่งมีไว้เป็นความผิด
รถไฟฟ้าเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบพระชนมพรรษา มีการติดตั้งประตูกั้นชานชาลาตั้งแต่ปี 2556 โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะป้องกันไม่ให้ผู้โดยสารพลัดตกจากชานชาลา เป็นประตูแบบ Half Height Platform Screen Door หรือประตูครึ่งบาน โดยเป็นรั้วสูง 1.50 เมตร บริเวณขอบชานชาลาของสถานีรถไฟฟ้า งบลงทุน 600 ล้านบาท เพื่อจัดระเบียบการขึ้นลงรถไฟฟ้าบีทีเอสให้มีความปลอดภัยมากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันมีผู้โดยสารสูงสุด 7 แสนคนต่อวัน ทำให้เกิดความแออัดและหนาแน่นบริเวณทางเข้?าออกของประตูรถไฟฟ้า โดยสถานีที่นำร่องก่อนคือสถานีสยาม
รายชื่อสถานีที่มีการติดตั้งประตูกั้นชานชาลา มีดังนี้ สยาม อโศก อ่อนนุช พญาไท อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ศาลาแดง ชิดลม พร้อมพงษ์ และช่องนนทรี[ต้องการอ้างอิง]
แต่หลังจากเปิดทดสอบได้ไม่นานก็เกิดปัญหาทำให้ระบบควบคุมหลักไม่สามารถใช้การได้ในวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2556 ซึ่งสาเหตุมาจากการที่ระบบควบคุมชุดประตู ไม่สามารถเชื่อมต่อกับระบบควบคุมการเดินรถได้ และทำให้ระบบควบคุมการเดินรถทั้งหมดมีปัญหา เบื้องต้นบีทีเอสได้หารือกับบอมบาร์ดิเอร์และได้ข้อสรุปที่ตรงกันว่า จะยุติการทดสอบการใช้งานประตูกั้นชานชาลาก่อน เพื่อหาทางแก้ไขไม่ให้การเชื่อมต่อกับระบบประตูนั้น ทำให้ระบบรถไฟฟ้าล่มอีกเป็นครั้งที่สอง
รถไฟฟ้าเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบพระชนมพรรษา ให้บริการโทรทัศน์บนรถไฟฟ้าบีทีเอส ทุกเที่ยว และบริการศูนย์บริการนักท่องเที่ยว (BTS Tourist Information Centers) ที่บริเวณ สถานีสยาม สถานีพญาไท สถานีสะพานตากสิน และบริการ จุดบริการด่วนมหานคร (BMA Express Service) ซึ่งเป็นบริการของกรุงเทพมหานคร ที่ สถานีสยาม, สถานีหมอชิต,สถานีพร้อมพงษ์ในการออกบัตรประชาชน
เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2551 ในโอกาสที่เปิดบริการมาครบ 9 ปี ปรากฏว่า มียอดมีผู้ใช้บริการตั้งแต่เปิดให้บริการ 972,034,298 เที่ยว มีผู้โดยสารใช้บริการรถไฟฟ้าเฉลี่ยวันทำการ 424,369 เที่ยวต่อวัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 2.6% โดยในปี 2551 นี้มีผู้ใช้บริการสูงสุดเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2551 จำนวน 497,390 เที่ยว และในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2554 มี?ผู้โดยสาร?ใช้?บริการ?รถไฟ?ฟ้า?เฉลี่ย?ใน?วัน?ทำ?การ?สร้าง?สถิติ?ใหม่?สูง?สุด?เท่ากับ 509,106 เที่ยว?/คน
และผลดำเนินงานบริการรถไฟฟ้าบีทีเอสในรอบบัญชี เมษายน 2554 ถึง มีนาคม 2555 มียอดผู้ใช้บริการทั้งสิ้น 176,028,556 เที่ยวคน เพิ่มขึ้นจากงวดปีที่ผ่านมา 21.24% และเมื่อพิจารณาจากผู้โดยสารเฉลี่ยต่อวันภาพรวมปรับตัวสูงขึ้น 18.26% เป็น 480,952 เที่ยวคน ซึ่งวันที่ 30 มีนาคม 2555 นับว่าเป็นวันที่ทุบสถิติสูงที่สุดนับตั้งแต่เปิดให้บริการมา มีผู้มาใช้บริการถึง 714,575 เที่ยวคน ปัจจุบันรถไฟฟ้าบีทีเอสมียอดผู้โดยสารสะสมครบ 2,000 ล้านคนไปเป็นที่เรียบร้อย เมื่อวันที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2557 หลังเริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนธันวาคม พ.ศ. 2542 ซึ่งใช้เวลาทั้งหมด 14 ปี 9 เดือน
ในช่วงบ่ายของวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558 ทางเว็บไซต์ของนิตยสาร Positioning Magazine ได้มีการลงบทความทางหน้าเว็บไซต์เกี่ยวกับการเปลี่ยนชื่อ "สถานีพร้อมพงษ์" เดิม เป็น "เอ็ม ดิสทริค สเตชัน" (Em District Station) ทั้งนี้ภายในเวลาต่อมาภายในวันเดียวกัน ทางบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ได้ออกมาชี้แจงต่อสื่อ ว่าไม่มีนโยบายการเปลี่ยนแปลงชื่อสถานีพร้อมพงษ์ตามที่ได้เป็นข่าวออกมาก่อนหน้านี้ อย่างไรก็ตาม ประชาชนบางกลุ่มเชื่อว่า[ต้องการอ้างอิง]การปล่อยข่าวลือดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายการโฆษณาของห้างสรรพสินค้าเอ็มควอเทียร์ ของกลุ่มเดอะมอลล์ ที่มีกำหนดการเปิดให้บริการในอีกไม่กี่วันหลังจากเหตุการณ์ข่าวลือ เพื่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์และที่พูดถึงในวงกว้างจากประชาชน[ต้องการอ้างอิง]